เมื่อรองเท้าของว่าที่สตาร์เอ็นบีเอระเบิด

รองเท้าบาสเกตบอลถือเป็นอาวุธอย่างหนึ่งของผู้เล่น ด้วยคุณภาพและการออกแบบให้มันเหมาะสมกับการใช้งานทั้งวิ่ง กระโดดและเบรกอย่างต่อเนื่อง รองเท้าบาสแทบจะเป็นหนึ่งในอุปกรณ์กีฬาที่ถูกออกแบบมาให้มีความแข็งแรงทนทานมาก แต่ก็ไม่ใช่ทุกครั้งไป

ปลายกุมภาพันธ์ 2019 ในเกม NCAA ระหว่างมหาวิทยาลัยดุ๊กกับมหาวิทยาลัยนอร์ท แคโลไรน่า หนึ่งในผู้เล่นที่ถูกคาดหมายว่าจะกลายเป็นซุปเปอร์สตาร์ในอนาคตของเอ็นบีเอชื่อ ไซออน วิลเลี่ยมสัน กำลังเล่นเกมของเขา จังหวะเหยียดขาในเกมปรากฏว่ารองเท้าของวิลเลี่ยมสันฉีกออกจากกันจนเขาทรงตัวไม่อยู่ ก่อนล้มลงกุมหัวเข่าที่มีอาการเจ็บ รองเท้าข้างซ้ายของวิลเลี่ยมสันฉีกเป็นทางยาวตลอดข้างเท้าด้านนอก ผู้ชมเกมถึงกับตะลึงเพราะมันไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นง่าย ๆ

เรื่องรองเท้าพังกลายเป็นประเด็นฮอตทันที โดยแบรนด์ผู้ผลิตได้ออกมาแก้ต่างว่ามันเป็น “issolated occurrence” หรือพูดง่าย ๆ ว่า เหตุการณ์ที่เกิดได้ในบางครั้ง ซึ่งจากรองเท้าฉีกระหว่างเกมหนึ่งครั้ง เกิดการถกเถียงในวงกว้าง โดยบางส่วนบอกว่าเป็นเรื่องของความบกพร่องในการผลิตของเจ้าของแบรนด์ และบางคนบอกว่าเป็นความผิดของวิลเลี่ยมสันเองที่ใช้รองเท้าผิดสเปคกับการใช้งาน

ดร.แน็ต ฮันต์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเนบลาสก้า ซึ่งทำงานวิจัยและศึกษาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของมนุษย์และสัตว์ ได้รับการร้องขอให้หาคำตอบเรื่องนี้ ซึ่งเนื้อหาของการศึกษาและหาคำตอบประกอบด้วยการเคลื่อนที่ทั้งในแนวราบ แนวดิ่ง แรงปฏิกิริยาของรองเท้ากับพื้นสนามเมื่อนักกีฬาทรงตัวหรือออกตัว แม้จะไม่ได้วัดแรงที่เกิดขึ้นจากการเหยียดเท้าของซิออนโดยตรง แต่ ดร.ฮันต์ก็ชี้ชัดว่าแรงที่เกิดขึ้นเป็นสาเหตุให้รองเท้าข้างนั้นฉีกขาด

“รองเท้าที่พังยับแบบที่เกิดกับวิลเลี่ยมสัน เป็นเพราะมันเกิดแรงต้านหลายจุดพร้อมกันบนตัวรองเท้าในจังหวะที่เขาขยับเปลี่ยนทิศทางกะทันหัน” ดร.ฮันต์เริ่มอธิบาย

“มันขึ้นอยู่กับมุมสัมผัสของพื้นรองเท้าและพื้นสนาม ซึ่งจากการย้อนดูวิดีโอจะเห็นว่ามุมสัมผัสมันอยู่ที่ 60 องศาจากแกนตั้ง และตรงจุดนี้ไซออนพยายามที่จะทรงตัวด้วยขาซ้ายเพียงข้างเดียว มันเป็นการรับน้ำหนัก 284 ปอนด์ของร่างกายนักกีฬาขนาดใหญ่ และเพื่อให้ทรงตัวอยู่ได้เขาต้องมีแรงรับที่พื้นรองเท้า 2 เท่าหรือเกิน 560 ปอนด์ แต่มันไม่พอ”

การอธิบายถึงที่มาที่ไปของอาการฉีกตลอดแนวรองเท้า จึงเป็นเรื่องของแรงเสียดทานที่เกิดขึ้นจากการลงน้ำหนักในมุมที่บังเอิญมากเกินไป ซึ่งเป็นผลมาจากวิธีการเล่นของตัวไซออนเอง ไม่ใช่เรื่องของคุณภาพรองเท้า เพราะรองเท้ารุ่นเดียวกันนี้ก็มีนักบาสเกตบอลเอ็นบีเอในตำแหน่งเซ็นเตอร์ใช้อยู่มากมาย แต่เป็นเพราะการเลือกใช้รองเท้าผิดขนาดของตัวซิออนและรูปแบบการใช้ผิดจังหวะเท่านั้นเอง