ช็อต คล็อก เงื่อนไขเวลาเปลี่ยนกระแสบาสให้พุ่งกระฉูด

บาสเกตบอลกลายเป็นที่สุดของความตื่นเต้นอย่างในปัจจุบันต้องยกความดีความชอบให้กติกาที่ปรับปรุงขึ้นในภายหลังที่เรียกว่า ช็อต คล็อก (Shot clock)

ย้อนกลับไปในช่วงที่ NBA เกิดปัญหาแฟนบาสเกตบอลเริ่มเหนื่อยหน่ายกับการชมเกม การยิงไร้กติกาเรื่องเวลาในการเล่นเกมบุกทำให้หลายทีมที่นำอยู่สร้างรูปแบบการเล่นฆ่าเวลาเพื่อให้จบลงด้วยชัยชนะ การส่งบอลไปมาไม่ผิดกฏ ไม่ถูกลงโทษและทีมที่ตามหลังอยู่ก็ทำอะไรไม่ได้ หากเข้าไปแย่งบอลรุนแรง อีกฝ่ายก็ได้ครอบครองบอลจากการทุ่มเข้าอยู่ดี เมื่อเป็นแบบนี้สถิติการทำคะแนนช่วงท้ายเกมก็ต่ำมาก หนึ่งในเกมที่ถูกบันทึกไว้ในเรื่องนี้คือนัดที่ฟอร์ท เวย์น พิสตันเอาชนะมินนีอาโพลิส เลเกอร์ 19-18 ในเดือนพฤศจิกายน 1950 เฉพาะในควอเตอร์สุดท้ายพวกเขามีการทำคะแนนแค่ 3-1 ในเกมนั้นพิสตันครองบอล 4 นาทีโดยไม่ยิงทำคะแนน

ถัดมาไม่กี่อาทิตย์หลังเกมพิสตันกับเลเกอร์ ในเกมของโรเชสเตอร์ รอยัลส์กับอินเดียน่าโพลิส โอลิมเปี้ยนเกิดเหตุการณ์ครองบอลแต่ไม่ยิงเหมือนกัน มันเป็นเรื่องใหญ่ทันทีสำหรับ NBA ในการเร่งรูปเกมให้เร็วขึ้นและลดการฟาวล์ท้ายเกมลง

ในปี 1954 สี่ปีให้หลังของความน่าเบื่อหน่ายในเกมบาสเกตบอล ที่ไซราคิวส์ในนิวยอร์ก ดาเนี่ยล บิอาโซเน่ ผู้ก่อตั้งและเจ้าของสโมสรไซราคิวส์ เนชั่นนอลหรือปัจจุบันคือทีมฟิลาเดลเฟีย  เซเว่นตี้ซิกเซ่อร์ได้เอาแนวคิดในการมีเวลากำหนดให้ฝ่ายรุกต้องทำการชู้ตมาใช้ เขากับลีโอ เฟอร์ริส ผู้จัดการทีมและเอมิล บาร์บอนี่ หัวหน้าแมวมองได้พูดคุยกันที่ลานโบลลิ่งของไบอาโซเน่เกี่ยวกับเรื่องเวลาและคะแนนต่างๆ ไบอาโซเน่บอกว่ามีเกมที่เขาชอบคะแนนของมัน เขาคิดว่าแต่ละทีมชู้ตกันราว 60 ครั้ง หมายความว่ามีจังหวะทำคะแนนประมาณ 120 ครั้งต่อเกม และมันจะใช้เวลา 2,880 วินาที (48 นาที) ถ้าเอามาหารก็ตก 24 วินาทีต่อการชู้ตหนึ่งครั้ง ถ้าทำให้เกมเป็นแบบนี้มันก็น่าจะทำให้เกมสนุกได้ ว่ากันว่าไบอาโซเน่เขียนเรื่องนี้ให้เฟอร์ริสดูบนกระดาษทิชชูเสียด้วย

ไบอาโซ่เน่รีบนำเสนอเรื่องช็อต คล็อก 24 วินาทีสู่ NBA และมันถูกใช้งานในทันที ซึ่งการเล่นแบบไม่มีช็อต คล็อกในฤดูกาล 1953-1954 ค่าเฉลี่ยคะแนนต่อทีมอยู่ที่ 79 คะแนนต่อเกม แต่พอใช้ช็อต คล็อกปีแรก ทุกทีมทำคะแนนเฉลี่ยเพิ่มเป็น 93 คะแนน ทีมที่เล่นเกมบุกเป็นหลักอย่างไซราคิวส์ เนชั่นนอลสามารถคว้าแชมป์ภายใต้กฏใหม่ และแค่สี่ปีในการใช้งานคะแนนเฉลี่ยกลายเป็น 107 แต้ม โค้ชและผู้ตัดสินของวงการเอ็นบีเออย่างชาร์ลเล่ย์ แอ็กค์แม่นกล่าวว่า “ดาเนี่ยล ไบอาโซเน่ได้เซฟชีวิตเอ็นบีเอด้วยกฏ 24 วินาที”

ในเวลาที่ใกล้เคียงกันนั้น ทั้ง FIBA หรือสมาพันธ์บาสเกตบอลนานาชาติกับ ABA ลีกบาสที่เป็นคู่แข่งของ NBA ก็ได้มีการใช้เงื่อนไขเรื่องเวลาในการชู้ตทำคะแนนเช่นกัน โดยกำหนดให้ฝ่ายรุกมีเวลา 30 วินาที ขณะที่ในระดับ NCAA พวกเขากลัวว่าเกมที่เร็วจะทำให้ทีมเล็กหมดโอกาสเอาชนะทีมใหญ่ก็เลยยังไม่ยอมใช้ แต่พอเทนเนสซี่ชนะเท็มเพิ่ลด้วยสกอร์ 11-6 พวกเขาก็เปลี่ยนใจทันที แม้ทีแรกจะใช้ช็อต คล็อก 35 วินาทีแต่มันก็ถูกปรับลงมาจนเหลือ 30 วินาทีเหมือนที่นิยมกัน

แต่ด้วยแนวคิดของไบอาโซเน่เรื่องที่เขาคำนวณเวลาในการใช้ชู้ตแต่ละครั้งที่ 24 วินาทีเป็นเรื่องที่เหมาะสมกว่า ในที่สุดหลังการควบรวมระหว่าง NBA กับ ABA พวกเขาก็เลือกใช้ช็อตคล็อก 24 วินาที ในขณะที่ลีกบาสเกตบอลอื่น ๆ ก็ปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสม เช่น NCAA ใช้ 30 วินาทีหรือระดับไฮสกูลใช้ 30/35 วินาที เป็นต้น

จากเกมที่น่าเบื่อหน่ายเพราะผู้เล่นไม่ทำคะแนน กลายมาเป็นเกมที่ถูกบังคับให้ทุกคนต้องเคลื่อนไหวเพื่อสร้างโอกาสทำคะแนนในช่วงเวลากำหนด จากแนวคิดที่เขียนลงบนกระดาษทิชชู สู่การทำให้บาสเกตบอลเป็นเกมที่เล่นกันอย่างรวดเร็วเพราะเวลาทุก 24 วินาทีมีค่า ต้องขอบคุณไบอาโซเน่กับช็อต คล็อกที่เขาริเริ่มขึ้น